Skip to main content
หัวเว็บไซต์งานเทศกาลสงกรานต์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 ประเพณีสงกรานต์ ปีใหม่แบบไทย

เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างเด่นชัด โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรี ปัจจุบันแม้ไทยเราจะนับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่แบบสากลนิยม แต่ลักษณะพิเศษและกิจกรรมที่คนในชุมชนได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญทำทาน การอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำ และการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ ล้วนทำให้ชาวไทยส่วนใหญ่ยังถือประเพณีสงกรานต์เป็นปีใหม่แบบไทย ๆ ที่เทศกาลแห่งความเอื้ออาทร เกื้อกูลผูกพันซึ่งกันและกัน ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะตรงกับวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายนของทุกปี ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการต่อเนื่องกัน เพื่อให้ประชาชนที่ทำงานในต่างท้องที่ได้กลับไปยังถิ่นฐานของตน เพื่อไปร่วมทำบุญ เยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ บุพการี และเล่นสนุกสนานกับครอบครัว เพื่อนฝูง

คำว่า “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ก้าวขึ้น ผ่าน หรือเคลื่อนที่ ย้ายที่ หมายถึง เวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งทุกๆเดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือน ยกเว้นเมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ เมื่อใดก็ตามจะเป็นสงกรานต์ปี และเรียกชื่อพิเศษว่า “มหาสงกรานต์” ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามคติพราหมณ์ โดยเป็นการนับทางสุริยคติ วิธีนับวันและเดือนโดยถือกำหนดตำแหน่งดวงอาทิตย์เป็นหลัก การกำหนดนับวันสงกรานต์จึงตกอยู่ในระหว่างวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายน ซึ่งทั้ง 3 วัน จะมีชื่อเรียกเฉพาะดังนี้ คือ •วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า มหาสงกรานต์ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษ อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ผ่านการเข้าสู่ราศีอื่น ๆ แล้วจนครบ 12 เดือน •วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าอยู่ราศีเมษ ประจำที่เรียบร้อยแล้ว •วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก หรือวันขึ้นศก คือวันที่เริ่มเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การกำหนดให้อยู่ในวันนี้นั้นเพื่อให้แน่ใจได้ว่าดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนขึ้นอยู่ราศีเมษแน่นอนแล้วอย่างน้อย 1 องศา สงกรานต์เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติมาเนิ่นนาน บรรพบุรุษได้กำหนดธรรมเนียมปฏิบัติมาอย่างชัดเจนสืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ เป็นความงดงาม ซึ่งบ่งบอกถึงคุณลักษณะของความเป็นไทยอย่างแท้จริง เช่น ความกตัญญู ความโอบอ้อมอารี ความเอื้ออาทรทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ความสนุกสนานรื่นเริง เป็นต้น •ก่อนวันสงกรานต์ เป็นการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล และ ต้อนรับชีวิตใหม่ที่จะเริ่มต้นในวันปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง กิจกรรมที่ทำได้แก่ – การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ข้าวของต่าง ๆ รวมทั้งสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น วัด ศาลา บริเวณชุมชน เป็น – การเตรียมเสื้อผ้าที่จะสวมใส่ไปทำบุญ รวมทั้งเครื่องประดับตกแต่งต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีผ้าสำหรับไปไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรดน้ำขอพรด้วย – การเตรียมอาหารในการไปทำบุญ ทั้งของคาว ของหวานที่พิเศษ ได้แก่ การเตรียมขนมที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของวันตรุษและวันสงกรานต์ นั่นคือ ข้าวเหนียวแดงสำหรับวันตรุษ และ ขนมกวนหรือ กาละแมสำหรับวันสงกรานต์ •ช่วงวันสงกรานต์ เมื่อถึงวันสงกรานต์ก็จะเป็นเวลาที่ทุกคนจะยิ้มแย้มแจ่มใส ทำใจให้เบิกบาน เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีดังต่อไปนี้ – การทำบุญตักบาตรตอนเช้า หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด การทำบุญอัฐิ – การสรงน้ำพระ มี 2 แบบ คือ การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร และการสรงน้ำพระพุทธรูป 1) การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร จะใช้แบบเดียวกับอาบน้ำ คือ การใช้ขันตักรดที่ตัวท่าน หรือที่ฝ่ามือก็ได้ แล้วแต่ความนิยม หากเป็นการสรงน้ำแบบอาบน้ำพระจะมีการถวายผ้าสบง หรือถวายผ้าไตรตามแต่ศรัทธาด้วย 2) การสรงน้ำพระพุทธรูป อาจจะจัดเป็นขบวนแห่หรือเชิญมาประดิษฐานในที่เหมาะสม การสรงน้ำจะใช้น้ำอบ น้ำหอม หรือน้ำที่ผสมด้วยน้ำอบ น้ำหอมประพรมที่องค์พระ •การก่อพระเจดีย์ทราย จะทำในวันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน โดยการขนทรายมาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่าง ๆ ในบริเวณวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้วัดได้ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างหรือถมพื้นต่อไป ถือเป็นการทำบุญอีกลักษณะหนึ่งที่ได้ทั้งบุญและความสนุกสนาน •การปล่อยนกปล่อยปลา เป็นการทำบุญทำทานอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะ การปล่อยนกปล่อยปลาที่ติดกับดัก บ่วงให้สู่อิสระ หรือปลาที่อยู่ในน้ำตื้น ๆ ซึ่งอาจจะตายได้ หากปล่อยให้อยู่ในสภาพแบบเดิม •การรดน้ำผู้ใหญ่หรือการรดน้ำขอพร เป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ของครอบครัว หรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ การรดน้ำผู้ใหญ่อาจจะรดน้ำหรือรดเฉพาะที่ฝ่ามือก็ได้ ดังนั้น จึงควรมีผ้านุ่งห่มไปมอบให้ด้วย เพื่อจะได้ผลัดเปลี่ยนหลังจากเสร็จสิ้นพิธีแล้ว •การเล่นรดน้ำ หลังจากเสร็จพิธีการต่าง ๆ แล้ว เป็นการเล่นรดน้ำเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างญาติมิตร โดยการใช้น้ำสะอาดผสมน้ำอบหรือน้ำหอม หรือจะใช้น้ำอบก็ได้ รดกันเบา ๆ ด้วยความสุภาพ •การเล่นรื่นเริงหรือมหรสพต่าง ๆ เป็นการเชื่อมความสามัคคีและเพื่อความสนุกสนาน รวมทั้งยังเป็นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป เช่น ลิเก ลำตัด โปงลาง หมอลำ หนังตะลุง ประเพณีปฏิบัติเหล่านี้อาจจะมีความแตกต่างกันออกไปบ้างตามแต่ละท้องถิ่น การยึดถือปฏิบัติอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ