เชิญชวนข้าราชการกรอกแบบประเมินผลเพื่อวัดมิติภายในด้านการพัฒนาองค์กร เริ่ม ๑๗ ธันวาคม นี้เว็บไซต์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพ logo website จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เชิญชวนข้าราชการกรอกแบบประเมินผลเพื่อวัดมิติภายในด้านการพัฒนาองค์กร เริ่ม ๑๗ ธันวาคม นี้

ผู้เขียน:  จรัญญา ศรีไพร จาก สำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อวันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 13:20 น.

 อ่าน 2,333

  GES (Government Evaluation System) หรือระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ  จะเริ่มใช้วัดประเมินผลภาคราชการ (ส่วนราชการภูมิภาค ๓๓ ส่วนราชการ) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นต้นไป

     สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีีเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๔ เห็นชอบในการนำระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ (GES) มาใช้ติดตามประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ดังนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้จัดทำตัวชี้วัด ๔ ตัว เพื่อวัดประเมินผลจังหวัด  โดยข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่น้อยกว่า ๑ ปี เท่านั้น จึงจะมีคุณสมบัติในการกรอกข้อมูลลงใน Survey Online

     จึงขอเชิญชวนข้าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (จากส่วนราชการส่วนภูมิภาค ๓๓ ส่วนราชการ) กรอกข้อมูล Survey Online ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๕ - ๔ มกราคม ๒๕๕๖ >> คลิกแบบสอบถาม ที่นี่

     แบบสอบถามมีทั้งสิ้น ๓๐ ข้อ 

     ข้อ ๑ - ๑๐ เป็นคำถามสำหรับวัดระดับความสำเร็จของการพัฒนาบุคลากร เพื่อประเมิน "ทุนมนุษย์" เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์(HRD) และ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (HRM)

      ข้อ ๑๑-๑๖ เป็นคำถามสำหรับวัดระดับความสำเร็จของการพัฒนาปรับปรุงสารสนเทศ เพื่อประเมิน "ทุนสารสนเทศ" ของจังหวัด ความพึงพอใจของผู้ใช้สารสนเทศ และประเมินประสิทธิภาพของระบบ

     ข้อ ๑๗-๓๐ เป็นคำถามสำหรับวัดระดับความสำเร็จของการพัฒนาปรับปรุงวัฒนธรรมองค์การ เพื่อประเมิน "ทุนองค์การ " ว่ามีความสอดคล้องเชื่อมโยงในองค์การ ความสำเร็จขององค์การ และมีการสร้างสิ่งใหม่ๆหรือไม่

      ภายหลังจากการประมวลผลแบบสอบถามโดย สำนักงาน ก.พ.ร.  จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะได้รับแจ้งผลสถานะการบริหารจัดการองค์การ  เพื่อจังหวัดนำไปวางแผนต่อไปได้แก่

     ๑. แผนการพัฒนาบุคลากร / การปฏิบัติตามแผน  
     ๒. แผนการพัฒนาระบบสารสนเทศ /การปฏิบัติตามแผน
     ๓. แผนการพัฒนาองค์การ

     ทั้ง ๓ แผนดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามตัวชี้วัดคำรับรองการปฏิบัติราชการของจังหวัด  ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๖ น้ำหนักร้อยละ ๕,๓ และ ๓ ตามลำดับ

 ตัวอย่าง ๓๐ คำถาม ในแบบสอบถาม

๑. จังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่มีนโยบายและเป้าหมายด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ที่ชัดเจน และมีการสื่อสารให้บุคลากรทราบ  

๒. จังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่มีการมอบหมายบุคลากรอย่างชัดเจน เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินการบรรลุวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายของจังหวัด  

๓. หน่วยงาน/จังหวัด ที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่มีแนวทางในการเสริมสร้างแรงจูงใจเพื่อรักษาบุคลากรไว้ ซึ่งทำให้อัตราการโอน/ลาออกมีแนวโน้มลดลง  

๔. จังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่มีฐานข้อมูลทรัพยากรบุคคลที่มีความถูกต้อง ทันสมัย และนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจและการบริหารทรัพยากรบุคคลของจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

๕. จังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่มีการส่งเสริมให้มีกิจกรรมการเรียนรู้และการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างฝ่ายบริหารกับบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน และระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้วยกันเอง  

๖. แผนพัฒนาบุคลากรของจังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่มีความสอดคล้องกับทิศทาง และยุทธศาสตร์ของจังหวัด  

๗. บุคลากรในจังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่มีความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่เหมาะสมเพียงพอที่จะทำให้การปฏิบัติงานบรรลุภารกิจขององค์การอย่างมีประสิทธิภาพ  

๘. ผู้บังคับบัญชา/หัวหน้างานมีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาให้ข้าพเจ้าปฏิบัติงานได้ดีขึ้น เช่น การสอนงาน (Coaching) เป็นต้น  

๙. ข้าพเจ้าได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะ ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากความต้องการ และผลการประเมินการปฏิบัติราชการ  

๑๐. การพัฒนาความรู้ ทักษะที่ข้าพเจ้าได้รับช่วยให้ข้าพเจ้ามีความชำนาญ และสามารถปฏิบัติงานได้ดีขึ้น  

๑๑. ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ของจังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่มีความพร้อมใช้งานช่วยให้ข้าพเจ้าปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง  

๑๒. จังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม (เช่น ไฟดับ ไวรัส เป็นต้น)  

๑๓. ข้อมูลและสารสนเทศ ของจังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของข้าพเจ้า  

๑๔. ฐานข้อมูล ของจังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่ สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก เข้าถึงได้ง่าย ค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้รวดเร็ว  

๑๕. ฐานข้อมูลของจังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่สามารถสนับสนุนการสื่อสารองค์ความรู้ (KM) และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของวิธีการปฏิบัติที่ดี (Best/Good Practices) 

๑๖. จังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และนำมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานได้  

๑๗. ข้าพเจ้าเข้าใจทิศทางและกลยุทธ์ของจังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่  

๑๘. ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าผู้บริหาร สามารถบริหารจัดการองค์การให้บรรลุเป้าหมายได้ตามยุทธศาสตร์  

๑๙. ผู้บริหาร/ผู้บังคับบัญชา เปิดโอกาสให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานได้อย่างอิสระ เพื่อการพัฒนาองค์การให้ดีขึ้น  

๒๐. สภาพแวดล้อมการทำงาน ในปัจจุบันทำให้ข้าพเจ้าทำงานอย่างมีความสุข  

๒๑. ปริมาณงานที่ข้าพเจ้าได้รับมอบหมาย มีความสมดุลกับเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงาน  

๒๒. ข้าพเจ้าได้รับการสนับสนุนให้มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานอย่างเพียงพอ  

๒๓. ข้าพเจ้ามีความมุ่งมั่นตั้งใจ และยินดีที่จะปฏิบัติงานอย่างเต็มที่เพื่อให้จังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่บรรลุเป้าหมาย  

๒๔. จังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่มีการให้รางวัลหรือยกย่องชมเชยบุคลากรที่ทุ่มเทให้แก่องค์การอย่างเหมาะสม  

๒๕. ข้าพเจ้าสามารถขอคำปรึกษาจากผู้บังคับบัญชา/หัวหน้างาน ได้ตลอดเวลา รวมทั้งได้รับการสนับสนุนเพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จ  

๒๖. ผู้บังคับบัญชา/หัวหน้างานของข้าพเจ้ามักจะติดตามความคืบหน้าของงาน เพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน  

๒๗. จังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม เพื่อให้เกิดความร่วมมือ และการทำงานที่มีคุณภาพดี  

๒๘. จังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่สามารถปรับตัวได้ไวต่อการเปลี่ยนแปลง ของสถานการณ์ภายนอกที่ส่งผลต่อการบรรลุภารกิจ  

๒๙. จังหวัดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่มีการนำการเรียนรู้จากบุคลากรภายใน ผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการ ระบบงาน ขั้นตอนทำงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

๓๐. ข้าพเจ้ารู้สึกว่างานของข้าพเจ้ามีความท้าทาย และช่วยให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะความสามารถใหม่ ๆ และมีประสบการณ์มากขึ้น  


คำค้นหา
 
comments powered by Disqus
ข่าวในประเภทประชาสัมพันธ์
ข่าวโดยสำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข่าวล่าสุด
สนใจมากสุดในรอบเดือน
เข้าชมล่าสุด