หมอใหญ่กรุงเก่า : แนะประชาชนดูแลบุตรหลานป้องกันเด็กจมน้ำตายเว็บไซต์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพ logo website จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หมอใหญ่กรุงเก่า : แนะประชาชนดูแลบุตรหลานป้องกันเด็กจมน้ำตาย

ผู้เขียน:  พัชรี วงษ์บัวทอง จาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อวันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 16:25 น.

 อ่าน 2,536

หมอใหญ่กรุงเก่า : แนะประชาชนดูแลบุตรหลานป้องกันเด็กจมน้ำตาย
ในช่วงฤดูน้ำหลาก

นพ.พิทยา ไพบูลย์ศิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากสถิติของ
สำนักโรคไม่ติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา (ข้อมูลตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ – ๒๕๕๔ ) พบว่าการจมน้ำทำให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี เสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งจากทุกสาเหตุ โดยพบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง
๑,๓๕๒ คน/ปี หรือวันละเกือบ ๔ คน

จากสภาพสถานการณ์อุทกภัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมหลาก ในบางพื้นที่กระแสน้ำเชี่ยวกราก ประชาชนประสบปัญหาภัยธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้น  ผลที่ตามมาก็คือสภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนเช่น ต้องอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ท่วมขัง ขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด การขับถ่ายและการกำจัดขยะไม่ถูกสุขลักษณะ เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดต่อที่อาจจะเกิดการระบาดซ้ำเติมผู้ประสบอุทกภัยก็เป็นได้
บางครอบครัวต้องเผชิญกับความสูญเสียจากสาเหตุที่บุตรหลานเสียชีวิตจากการจมน้ำ

ซึ่งการจมน้ำตายในเด็กสามารถแบ่งกลุ่มได้เป็น ๓ ชนิด ชนิดที่ ๑ “เผลอเรอชั่วขณะ” เด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กมีอายุระหว่าง ๖ เดือน – ๓ ขวบ มีผู้ดูแลใกล้ชิดแต่ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก ที่คิดว่าการหันไปทำกิจกรรมเพียงระยะเวลาสั้นๆ คงไม่ทำให้เด็กเกิดอันตรายได้ ซึ่งแท้จริงแล้วการทำกิจกรรมบางอย่างในระยะเวลาสั้นๆ เพียงเสี้ยววินาที เช่น การหันไปชงนม เข้าห้องน้ำ รวมทั้งการปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพัง ก็เป็นสาเหตุทำให้เด็กเกิดอันตรายและอาจจมน้ำเสียชีวิตได้ ชนิดที่ ๒ “ไม่คิดว่าละแวกบ้านจะอันตรายสำหรับเด็ก” เช่น กะละมัง ถังน้ำ โอ่ง อ่างเลี้ยงปลา อ่างบัว มักพบว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดถึงร้อยละ ๔๗  อายุเฉลี่ยของเด็กที่เสียชีวิตอยู่ระหว่าง ๒ - ๑๐ ขวบ เด็กมักมีผู้ดูแลแต่ไม่ตลอดเวลา  ผู้ดูแลเด็กประมาทไม่คิดว่าสิ่งแวดล้อมในบ้าน รอบบ้าน หรือละแวกบ้านจะเป็นอันตราย จึงอนุญาตให้เด็กเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ชนิดที่ ๓ “สาเหตุจากการเล่นน้ำหรือว่ายน้ำ” ในแหล่งน้ำบริเวณรอบๆ บ้าน เช่น แอ่งน้ำ ร่องน้ำ คูน้ำ รวมทั้งแหล่งน้ำในชุมชน เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง อายุเฉลี่ยของเด็กที่เสียชีวิตมักอยู่ระหว่าง ๕ - ๑๔ ปี ส่วนใหญ่เด็กที่จมน้ำชนิดนี้จะสามารถว่ายน้ำได้
แต่ยังไม่แข็ง

นพ.พิทยา กล่าวต่อว่า เพื่อให้บุตรหลานปลอดภัยจากการจมน้ำ จึงขอให้ผู้ปกครองหรือผู้ใกล้ชิดเด็กควรตระหนัก  และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการกำจัดปัจจัยเสี่ยงด้วยการระบายหรือเทน้ำในภาชนะที่ไม่ใช้ทิ้ง,
ปิดฝาภาชนะที่บรรจุน้ำให้เรียบร้อย, สร้างแนวหรือรั้วกั้นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเพื่อป้องกันอันตราย
ที่จะเกิดขึ้นจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ขอให้คำนึงอยู่เสมอว่าระดับน้ำเพียง ๑ – ๒ นิ้ว ก็สามารถทำให้เด็กจมน้ำได้,
ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง, สอนให้รู้จักใช้เสื้อชูชีพตลอดเวลาเมื่อโดยสารเรือ, แนะนำวิธีการว่ายน้ำ
เพื่อเอาชีวิตรอดแก่เด็ก เช่น การลอยตัวแบบนอนคว่ำ หรือนอนหงาย สอนการใช้ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝาช่วยในการลอยตัว  รวมถึงการช่วยเหลือคนจมน้ำที่ถูกต้อง โดยการไม่กระโดดลงไปช่วย แต่ให้ตะโกนเรียกผู้ใหญ่หรือใช้อุปกรณ์ช่วยยื่นหรือโยน เช่น กิ่งไม้ เชือก ห่วงยาง

หากพบเด็กจมน้ำห้ามจับเด็กอุ้มพาดบ่าหรือวางในลักษณะกระทะคว่ำเพื่อเอาน้ำออกเพราะเป็นวิธีที่ผิดและจะทำให้เด็กขาดอากาศหายใจยิ่งขึ้น หากเด็กไม่หายใจต้องทำการปฐมพยาบาลด้วยการเป่าปาก
และนวดหัวใจทันที เพราะหากปล่อยให้สมองขาดออกซิเจนเพียง ๔ - ๕ นาที ก็จะทำให้สมองสูญเสียสภาพได้
ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เด็กจมน้ำรอดชีวิตได้ทันท่วงที ผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์สามารถ โทร. ๑๖๖๙ เพื่อเรียกรถพยาบาลได้ฟรี

 

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทร ๐-๓๕๒๔-๑๕๒๐ ต่อ ๑๑๐

 

ดาวน์โหลดไฟล์
คำค้นหา
 
comments powered by Disqus
ข่าวในประเภทประชาสัมพันธ์
ข่าวโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข่าวล่าสุด
สนใจมากสุดในรอบเดือน
เข้าชมล่าสุด