นพ.พิทยา ไพบูลย์ศิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังคงเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรงของโลก
ทั้งนี้ในประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 8 หมื่นคน ซึ่งมีผู้ป่วยบางส่วนที่ยังไม่ทราบว่า
ตนติดเชื้อวัณโรคและบางส่วนที่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่กำหนดจึงอาจดื้อยา ยากต่อการรักษา
และอาจแพร่เชื้อวัณโรคไปสู่ผู้อื่นได้ องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดให้วันที่ 24 มีนาคม
ของทุกปี เป็น“วันวัณโรคโลก”
ผู้ป่วยวัณโรคควรดูแลตนเอง ดังนี้ ๑.) รับประทานยาวัณโรคตามที่แพทย์แนะนำ
จนครบตามกำหนด เพื่อป้องกันการเกิดวัณโรคดื้อยา ถ้ามีอาการผิดปกติหลังเริ่มรับประทานยาวัณโรค เช่น มีผื่น อาเจียน ปวดข้อ ต้องรีบพบแพทย์เพื่อทำการปรับยาและพบแพทย์
ตามนัดสม่ำเสมอ ๒.) ในช่วงแรกของการรักษาโดยเฉพาะสองอาทิตย์แรกถือเป็นระยะ
แพร่เชื้อ ผู้ป่วยควรอยู่แต่ในบ้านโดยแยกห้องนอน นอนในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดส่องถึงไม่ออกไปในที่ที่มีผู้คนแออัด และต้องสวมหน้ากากอนามัยเวลาอยู่ในที่ชุมชน ๓.) ปิดปาก จมูก เวลาไอ หรือจามทุกครั้ง ๔.) งดสิ่งเสพติด เช่น เหล้า บุหรี่ พักผ่อน
ให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ธัญพืช ผัก และผลไม้ ๕.) ให้บุคคลใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัว พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเอ็กซเรย์ปอด
นพ.พิทยา กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันมียารักษาวัณโรคที่ได้ผลดีหลายชนิด ซึ่งในการรักษา
จะให้ยาร่วมกันอย่างน้อย 3 ชนิด เพื่อลดอัตราการดื้อยาและเพิ่มประสิทธิภาพของยา
การรักษาจะได้ผลดีถ้าผู้ป่วยมารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และจะต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน หมั่นดูแลตนเองพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีโปรตีนและไวตามินสูงเพื่อช่วยเพิ่มความต้านทานโรค และเพื่อให้ห่างไกลจาก
วัณโรคทุกคนควรป้องกันตนเอง ด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่กำลังมี
อาการไอ หากประชาชนท่านใดมีอาการดังกล่าวข้างต้นควรรีบพบแพทย์ในสถานบริการ
ใกล้บ้านของท่านทันที