สา'สุขกรุงเก่า : แนะประชาชน “กินร้อน ช้อนกลาง ไอจามปิดปาก สวมหน้ากากป้องกัน และขยันล้างมือ” ป้องกันโรคคอตีบ เว็บไซต์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพ logo website จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สา'สุขกรุงเก่า : แนะประชาชน “กินร้อน ช้อนกลาง ไอจามปิดปาก สวมหน้ากากป้องกัน และขยันล้างมือ” ป้องกันโรคคอตีบ

ผู้เขียน:  พัชรี วงษ์บัวทอง จาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 16:23 น.

 อ่าน 3,357

นายแพทย์สมพงษ์ บุญสืบชาติ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แนะประชาชน ใช้มาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ไอจามปิดปาก สวมหน้ากากป้องกันและขยันล้างมือ ป้องกันโรคคอตีบ  เน้นเด็กเล็กควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ  รวมทั้งนำเด็กไปรับการฉีดวัคซีนที่สถานบริการใกล้บ้าน

จากสถานการณ์โรคคอตีบที่กำลังระบาดในบางจังหวัดอยู่ขณะนี้    แม้ว่าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  จะยังไม่พบผู้ป่วยโรคคอตีบก็ตามระชาชนก็อย่าได้ประมาท  เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย  เชื้อโรคจะพบอยู่ในคนเท่านั้นโดยจะพบในจมูกลำคอของผู้ป่วย  ติดต่อกันโดยการได้รับเชื้อทางการไอ จามรดกัน  หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด บางครั้งอาจติดต่อกันได้โดยการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือการดูดอมของเล่นร่วมกันในเด็กเล็ก

อาการจะปรากฏหลังได้รับเชื้อประมาณ 2 - 5 วัน โดยจะมีไข้ต่ำๆ คล้ายไข้หวัด ขณะไอจะมีเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร กลืนลำบาก ลักษณะพิเศษคือจะมีแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นที่ทอนซิลทั้ง 2 ข้างและลิ้นไก่ ซึ่งเป็นผลมาจากเนื้อเยื่อถูกทำลายจากพิษเชื้อโรคทำให้เกิดเนื้อตาย ตำแหน่งที่พบการอักเสบและมีเยื่อแผ่นสีขาวปนเทาได้ เช่น ในจมูก ทำให้มักพบว่าผู้ป่วยมีน้ำมูกปนเลือดเรื้อรังมีกลิ่นเหม็น ในลำคอและที่ทอนซิล จะทำให้ทางเดินหายใจตีบตัน หายใจลำบาก อาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น ทางเดินหายใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และปลายประสาทอักเสบทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต  เป็นผลให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ เด็กที่เป็นโรคคอตีบจะต้องพักเต็มที่อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจ ซึ่งมักเกิดขึ้นในปลายสัปดาห์ที่ 2  ในเด็กที่มีโรคแทรกซ้อนจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจจะต้องได้รับการเจาะคอ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้

หากมีการระบาดมาก เด็กเล็กและผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบมาก่อน  คือกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคคอตีบ เพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน แนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็กไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบฟรีในสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ตามกำหนดได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน, 4 เดือน และ 6 เดือน และนำไปรับการวัคซีนเพื่อกระตุ้นอีก 3 ครั้ง เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง , 4 ปี และ 12 ปี หรือในขณะกำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่สำคัญคือต้องฉีดให้ครบตามจำนวนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด  ในขณะนี้หากมีเด็กเล็กหรือบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ  ควรสังเกตอาการให้ดีหากสงสัยควรรีบนำไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาให้ถูกต้อง ซึ่งผลการรักษาจะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นก่อนได้รับการรักษา

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ กล่าวต่อว่า  แม้ในช่วงนี้จังหวัดพระนครศรีอยุธยายังไม่พบว่ามีการระบาดของโรคคอตีบก็ตาม แต่แนะนำให้ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้คนแออัดหนาแน่น และหากเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ประชาชนต้องยกระดับมาตรการดูแลตนเองให้เข้มข้นขึ้นด้วยการ กินร้อน ช้อนกลาง ไอจามปิดปาก สวมหน้ากากป้องกันและขยันล้างมือ


คำค้นหา
 
comments powered by Disqus
ข่าวในประเภทประชาสัมพันธ์
ข่าวโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข่าวล่าสุด
สนใจมากสุดในรอบเดือน
เข้าชมล่าสุด