งานความสัมพันธ์ อยุธยา - ศรีลังกา ฉลองวันวิสาขบูชาโลก ๒๑ - ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖เว็บไซต์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพ logo website จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

งานความสัมพันธ์ อยุธยา - ศรีลังกา ฉลองวันวิสาขบูชาโลก ๒๑ - ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖

ผู้เขียน:  จรัญญา ศรีไพร จาก สำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ปรับปรุงเนื้อหาสุดเมื่อวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เวลา 10:52 น.

 อ่าน 7,753

              เมื่อถึงช่วงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ จะเป็นวันวิสาขบูชา  ซึ่งประเทศไทยนับเป็นศูนย์กลางแห่งศาสนาพุทธ  จะมีการจัดงานวันวิสาบูชาโลก ปีนี้จัดวันที่ ๒๑-๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ  ซึ่งจะจัดพิธีเวียนเทียนที่พุทธมณฑล ในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖ มีพระจาก ๘๐ ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมงาน


            ดังนั้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวิสาขบูชา และ ๒๖๐ ปี สยามนิกาย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  จึงได้จัดงานความสัมพันธ์ อยุธยา - ศรีลังกา ณ บริเวณ วัดมหาธาตุ และวัดหลังคาขาว และระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นี้  

บรรยากาศของงาน

-   นิทรรศการพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ประวัติพระอุบาลีมหาเถระ          
- ความสัมพันธ์ครบ ๒๖๐ ลัทธิลังกาวงศ์ นิกายสยามวงศ์ พร้อมประดับธงฉัพพรรณรังสี ธงธรรมจักร
- การแสดง ธรรม World music  เพลง อนัตตา
- การแสดงจากประเทศ
สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
- การแสดง แสง สี เสียง ชุด "วิสาขบูชา อยุธยา มหาพุทธานุภาพ”
- โชว์ควงลูกไฟ

- การสวดมนต์และสวดสรภัญญะของพระภิกษุไทย ๘๙ รูป พระภิกษุศรีลังกา ๑๐ รูป (เวลา ๑๘.๐๐ - ๑๙.๐๐ น.)
-  และการแสดงสินค้า ข้าวของเครื่องใช้  การจำหน่ายอาหาร สินค้าขึ้นชื่อของศรีลังกา  

           อีกทั้ง มีการประดับไฟสวยงามตั้งแต่ถนนสายเอเชียเข้าสู่จังหวัดฯ พร้อมจัดถนนคนเดินประดับไฟยิ่งใหญ่ตระการตา ให้ประชาชนได้เก็บภาพเป็นที่ระลึก การจัดงานอยุธยา-ศรีลังกา ครั้งนี้ มีพระภิกษุจาก 83 ประเทศ ที่เข้าร่วมประชุมวันวิสาขบูชาโลกที่องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร รวมถึง พระภิกษุศรีลังกา 260 รูป เข้าชมนิทรรศการ ความสัมพันธ์อยุธยา-          ศรีลังกา ในวันดังกล่าวด้วย จึงขอเชิญชวนประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางเข้าร่วมกิจกรรมได้เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีต่อกัน..

             ขอเชิญเข้าร่วมพิธีเปิดงานในวันอังคารที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ในเวลา ๑๙.๐๐ น. ณ วัดหลังคาขาว เพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ได้แก่
 - รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล)
 - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและศิลปะ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
 - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมรดกแห่งชาติ 
สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
 - เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ประจำประเทศไทย (พลเอกซานต้า โกลเต โกด้า)
 - เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ประจำประเทศไทย

 - ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา  

อ่านต่อ >>  ทำความเข้าใจศรีลังกา ในเทศกาลวิสาขบูชา 

เมื่อเริ่มต้นรุ่งอรุณของวันวิสาขบูชา บรรดาวัดต่างๆ ทั่วทุกแห่งในศรีลังกา จะประโคมเสียงกลองและระฆังให้กึกก้อง เพื่อที่จะประกาศการเริ่มต้นของวันวิสาขบูชา จากนั้นประชาชนที่มีศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ก็จะพากันนุ่งขาวห่มขาว ไม่สวมเครื่องประดับหรืออัญมณีใดๆ รวมถึงไม่แต่งหน้าหรือใช้เครื่องสำอางใดๆด้วย แล้วก็จะพากันเข้าวัด ถือศีล ๘ หรือศีล ๑๐ ตามแต่สะดวก (ภาษาสิงหล เรียกว่า ซิล ซึ่งมาจากคำว่า ศีล นั้นเอง) นั่งสมาธิภาวนา เจริญปัญญา สนทนาปัญหาธรรม หรือฟังเทศน์ฟังธรรมกัน โดยจะอยู่ที่วัดตั้งแต่ตอนเช้าจนถึงตอนเย็น หรืออาจจะค้างคืนที่วัดเลยก็ได้ ส่วนประชาชนที่ทั่วไปที่มีศรัทธาระดับปานกลางหรือระดับทั่วไป ซึ่งยังไม่อาจงดเว้นจากความต้องการทางโลกได้อย่างเด็ดขาด ก็จะมารวมตัวกันฟังพระอ่านพระไตรปิฏกหรือเรื่องราวจากชาดกต่างๆ (เรียกกันว่า บานา - Bana ในภาษาสิงหล) ในช่วงตอนหัวค่ำหลังพระอาทิตย์ตก ซึ่งข้อปฏิบัติต่างๆ เหล่านี้ได้เป็นที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ก่อนสมัยอาณานิคมแล้ว 

                     ตามบ้านเรือน ท้องถนน รวมถึงสถานที่สาธารณะต่างๆ จะสว่างไสวไปด้วยแสงจากโคมไฟ ซึ่งมีโครงเป็นไม้ไผ่หุ้มด้วยกระดาษแก้วสีสันสวยงาม หรืออาจทำจากดินเผา โดยภายในโคมไฟจะเป็นเทียนไขหรือหลอดไฟฟ้าก็ได้ ส่วนเรื่องขนาดของโคมไฟนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานที่จะเอาโคมไฟไปวาง หากเป็นสถานที่สาธารณะก็จะต้องใช้โคมไฟขนาดใหญ่ หากเป็นตามบ้านก็จะนิยมแขวนโคมไฟขนาดเล็กๆ โคมไฟทั้งหลายเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์แทนแสงสว่างแห่งปัญญาของพระพุทธองค์ที่แผ่ออกมาส่องทางให้แก่ผู้ที่มืดบอดได้เห็นทางที่ถูกต้องนั่นเอง 

                    นอกจากนี้ยังมีการห้อยธงฉัพพัณรังสี (Buddhist Flag)ไว้ตามบ้านและสถานที่ต่างๆอีกด้วย ธงนี้ประกอบด้วยสี 6 สี คือ สีฟ้า หรือ นีละ (ซึ่งแทนความเมตตากรุณาและสันติสุข) เหลืองทอง หรือ ปีตะ (ซึ่งแสดงถึงทางสายกลาง) แดง หรือโลหิต(แทนพรอันประเสริฐจากการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์) ขาว หรือ โอทตะ (แทนความบริสุทธิของพระธรรม )ส้ม หรือ มันเชสตะ (แทนคำสั่งสอนของพระพุทธองค์) และสีแก้วผลึก หรือประภัสสระ (แก่นแท้ของแสง) ซึ่งเกิดจากนำสีทั้งห้าดังกล่าวมาผสมกัน สีทั้งหกนี้เป็นแสงสีที่เปล่งออกมาจากพระวรกายขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะที่พระองค์ทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ โดยสีฟ้าจะมาจากพระเกศา สีเหลืองทองจากพระฉวี สีแดงคือแสงจากพระมังสาและพระโลหิต สีขาวมาจากพระอัฐิและพระทนต์ และสีส้มคือแสงจากฝีพระโอษฐ์และฝ่าพระบาท 

                     ธงนี้เกิดขึ้นจากความพยายามของคณะกรรมการป้องกันพุทธศาสนา (Buddhist Defense Committee) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๘ เพื่อเป็นตัวแทนในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันแก่ชาวพุทธศรีลังกาในสมัยอาณานิคม โดยผู้ที่เป็นต้นตำหรับความคิดเรื่องธงฉัพพัณรังสีก็คือ พันเอกเฮนรี สตีล โอลคอตต์ (Colonel Henri Steel Olcott) อดีตนายทหารชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการดังกล่าวและเป็นแกนนำสำคัญของขบวนการฟื้นฟูพุทธศาสนาในศรีลังกาด้วย โดยหวังจะให้ธงนี้กลายเป็นสัญลักษณ์สากลของพุทธศาสนาเช่นเดียวกับที่ไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์นั้นเอง ส่วนผู้ที่ออกแบบรูปลักษณ์และสีสันของธงก็คือนายแคโรลิส ปูชิถะ คุณวรรเทนะ (Carolis Pujitha Gunawardena) ซึ่งเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการดังกล่าวในขณะนั้น ธงนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นธงชาวพุทธทั่วโลกในการประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกครั้งแรกในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ 

                     ตามบริเวณต่างๆของย่านตัวเมืองจะมีการทำโตรนะ (Torana) หรือซุ้ม ซึ่งจะแสดงภาพเหตุการณ์ต่างๆ ของพุทธประวัติหรือภาพที่บอกเล่าเรื่องราวจากชาดกต่างๆ โดยจะประดับด้วยหลอดไฟฟ้าสีสันสวยงาม 

                     ในวันนี้ชาวพุทธจะร้องเพลงประสานเสียงสรรเสริญพระพุทธคุณ ซึ่งเรียกกันว่า เวสัก ภักติ คีตา (Wesak Bhakti Gita) และมักจะมีการประกวดร้องเพลงประเภทนี้ให้เห็นอยู่เป็นประจำ โดยกลุ่มผู้ขับร้องจะใส่เสื้อผ้าสีขาว ซึ่งแสดงถึงความบริสุทธิและจิตใจที่พร้อมจะอุทิศแก่พระพุทธองค์ ประเพณีนี้เกิดขึ้นในยุคอาณานิคม โดยดัดแปลงมาจากประเพณีการร้องเพลงวันคริสต์มาส การทำเช่นนี้เหล่าปัญญาชนชาวพุทธยุคนั้นเล็งเห็นว่าจะช่วยทำให้การแสดงออกซึ่งศรัทธานั้นมีช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมีพระสงฆ์เป็นศูนย์กลางเหมือนที่เป็นมาก่อนหน้านั้น อีกทั้งยังจะช่วยทำให้พุทธศาสนาเข้าถึงคนทั่วไปมากขึ้น โดยทำให้ดูมีลักษณะทางโลกมากขึ้นและดูไม่น่าเบื่อหรือเป็นสิ่งที่พ้นโลกเกินกว่าความเข้าใจของปุถุชนเกินไป ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อคงความเหนียวแน่นของพุทธบริษัทไว้ ไม่ให้ลดน้อยลงตามกระแสการเปลี่ยนศาสนาในขณะนั้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูจะเป็นเจตนาอีกประการที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการทำให้พุทธศาสนิกชนระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง 

                     วันวิสาขบูชาเป็นโอกาสที่พุทธศาสนิกชนในศรีลังกาจะได้ให้ทานกันอย่างจริงจัง โดยจะมีการตั้งโรงทานชั่วคราวซึ่งเรียกกันว่า ทานสาล (Dansala) หรือศาลาให้ทานนั้นเอง ขึ้นมาตามที่ต่างๆ สำหรับทานที่ให้นั้นจะเป็นอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งจะให้แก่ใครก็ได้ที่เดินผ่านมา โดยไม่มีการเลือกชนชั้นวรรณะ เชื้อชาติ สัญชาติ หรือแม้แต่ศาสนา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่จะเห็นชาวศรีลังกาหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากยืนต่อแถวเรียงคิวเข้ารับอาหารที่แจกฟรีตามทานสาลในจุดต่างๆ ประเพณีนี้เป็นการขยับขยายการให้ทานที่กษัตริย์ศรีลังกาในอดีตเคยปฏิบัติลงมาสู่ประชาชนทั่วไป ซึ่งใครก็สามารถทำได้ สำหรับเงินที่นำมาใช้ในการจัดตั้งทานสาลนั้นอาจจะมาจากเงินทุนของบุคคลเพียงคนเดียว หรือมาจากการลงขันของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ได้ โดยกรณีหลัังนี้จะสามารถพบได้บ่อยมาก เนื่องจากผู้คนในชุมชนต่างๆจะนิยมบริจาคเงินคนละเล็กคนละน้อยเพื่อเป็นทุนในการจัดทานสาลในชุมชนของตน การทำเช่นนี้จะทำให้คนทั้งผู้บริจาคจำนวนมากได้บุญและความสุขจากการทำบุญ ในขณะเดียวกันผู้มารับทานก็ได้อิ่มท้องและมีความสุขจากการรับทาน แต่อย่างไรเสียสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการเกิดไมตรีจิตระหว่างผู้ให้กับผู้รับโดยปราศจากการแบ่งแยกใดๆ นั้นเอง ซึ่งเข้ากับหลักมหาสุข (Mass Happiness) โดยแท้ 

                     นอกจากนี้แล้ว ในตลอดช่วงเดือนพฤษภาคม ผู้คนก็จะนิยมมอบการ์ดอวยพรวันวิสาขบูชาให้กันอีกด้วย โดยจะมีวางขายตามร้านค้าและตามแผงลอยตามท้องถนน 

                    


คำค้นหา
 
comments powered by Disqus
ข่าวในประเภทประชาสัมพันธ์
ข่าวโดยสำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข่าวล่าสุด
สนใจมากสุดในรอบเดือน
เข้าชมล่าสุด