หมอใหญ่กรุงเก่า : แนะประชาชนปฏิบัติหลัก ๕ ป. ๑ ข. เว็บไซต์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพ logo website จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หมอใหญ่กรุงเก่า : แนะประชาชนปฏิบัติหลัก ๕ ป. ๑ ข.

ผู้เขียน:  พัชรี วงษ์บัวทอง จาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เวลา 16:12 น.

 อ่าน 2,716

นพ.วีระพล ธีระพันธ์เจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา รักษาราชการแทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ก่อให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกเกิดขึ้นเกือบทั้งปี เพื่อให้คนในครอบครัวปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกทุกครัวเรือนควรใช้หลัก ๕ ป. ๑ ข. ร่วมกับการใช้ตะไคร้หอมกันยุง

 โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมี
ไข้สูงลอยประมาณ ๒ - ๗ วัน ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่จะมีอาการหน้าแดง มีจุดแดงๆ ตามลำตัว แขน ขา ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น โดยเฉพาะในช่วงที่ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ดูแลต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะหากไม่รับการรักษาภายใน ๑๒ - ๒๔ ชั่วโมง ผู้ป่วยจะเข้าสู่ภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้

สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ถ้ามีไข้สูงควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้ และให้ทานยาพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามใช้ยาแอสไพรินหรือไอบูโปรเฟน เพราะจะทำให้เลือดออกในอวัยวะอื่นๆ
ของร่างกายได้ง่าย หากมีอาการอ่อนเพลียให้ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ

          การป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกที่ง่ายสุด คือ ทุกครัวเรือนต้องร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านเรือนนั้น มีหลักการง่ายๆ คือ “หลัก ๕ ป.” ได้แก่ ป.ที่ ๑ คือ
ปิดฝา
ภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ ป.ที่ ๒ คือ เปลี่ยนน้ำในภาชนะขนาดเล็กในบ้านทุกสัปดาห์ เช่น ขารองตู้กับข้าว แจกัน จานรองกระถางต้นไม้บ่อยๆ หรือให้ใส่เกลือแกง ผงซักฟอก น้ำส้มสายชู หรือทรายอะเบท  ป.ที่ ๓ คือ ปล่อยปลากินลูกน้ำยุงลาย เช่น หางนกยูง ในอ่างปลูกพืชน้ำต่างๆ ป.ทื่ ๔ คือ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป.ที่ ๕ คือ ปฏิบัติเป็นนิสัยและจริงจัง และ อีก 1 ข. ได้แก่ ขัด โดยการขัดภาชนะที่ใช้กักเก็บน้ำ เพื่อทำลายไข่ยุงลายที่เกาะติดกับภาชนะ
ต่างๆ ทำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกสัปดาห์เพื่อตัดวงจรชีวิตของยุง ซึ่งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายต้องทำทุก ๗ วันเป็นประจำ ซึ่งหากมีการปฏิบัติตามนี้ทุกครัวเรือนโรคไข้เลือดออกก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

นอกจากนั้นแล้วการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือ “ไม่ให้ยุงกัด” โดยการใช้สเปรย์ตะไคร้หอมฉีดตามร่างกายก่อนที่จะไปเดินทางไปในสถานที่ที่คิดว่าน่าจะมียุงลาย หรือใช้ต้นตะไคร้หอมทุบวางไว้ข้างๆ นอกจากนั้นแล้วอาจใช้สารสกัดตะไคร้หอมชุบสำลีวางไว้ใกล้ๆ ตัวเมื่อพบว่าสถานที่นั้นๆ มียุงลายอาศัยอยู่ 
เพราะน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากต้นตะไคร้หอมมีฤทธิ์ใช้ไล่ยุงและแมลงได้ ซึ่งจากการทดลองเมื่อนำ
น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอมมาทดสอบกับยุงที่เป็นพาหะของโรคต่างๆ พบว่ามีผลป้องกันยุงกัด
ได้นาน ๘ - ๑๐ ชั่วโมง จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็นภูมิปัญญาไทย
นำมาช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ด้วย


คำค้นหา
 
comments powered by Disqus
ข่าวในประเภทประชาสัมพันธ์
ข่าวโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข่าวล่าสุด
สนใจมากสุดในรอบเดือน
เข้าชมล่าสุด