อ่าน 2,878
ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและสนเทศอาเซียน
การดำเนินงานความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและสนเทศอาเซียน มีการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสนเทศ (ASEAN Committee on Culture and Information หรือ ASEAN-COCI) เมื่อปี ๒๕๒๓ คณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ คือ บรูไน ดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินงานความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและด้านสนเทศของอาเซียน ทั้งในและนอกภูมิภาค มีงบประมาณดำเนินการจากกองทุนวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Fund) ซึ่งได้รับบริจาคจากรัฐบาลญี่ปุ่น จำนวน ๕,๐๐๐ ล้านเยน หรือประมาณ ๒๕ ล้านเหรียญสหรัฐ
ในระยะแรก ASEAN-COCI ได้กำหนดการดำเนินงานแบ่งออกเป็นสาขาหลัก ๔ สาขา โดยมีคณะทำงาน ๔ คณะ ประกอบด้วย คณะทำงานด้านวรรณกรรมและอาเซียนศึกษา คณะทำงานด้านทัศนศิลป์และศิลปการแสดง คณะทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อบุคคล คณะทำงานด้านวิทยุ/โทรทัศน์และภาพยนตร์/วีดิทัศน์ ต่อมาในปี ๒๕๔๒ ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างของ ASEAN-COCI โดยยกเลิกคณะทำงาน ๔ คณะ และตั้งเป็นคณะอนุกรรมการ ๒ คณะ คือ คณะอนุกรรมการด้านวัฒนธรรม (Sub-Committee on Culture) และคณะอนุกรรมการด้านสนเทศ (Sub-Committee on Information) คณะอนุกรรมการมีการประชุมปีละครั้ง โดยมีหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศเจ้าภาพทำหน้าที่ประธาน หน้าที่ความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการคือ พิจารณาจัดทำและกลั่นกรองการเสนอโครงการใหม่ต่อ ASEAN-COCI วางแผนปฏิบัติการและติดตามผลการดำเนินงาน ศึกษาวิเคราะห์ประเด็นปัญหาหรือความต้องการของภูมิภาคเพื่อจัดทำโครงการ การนำข้อมติของกลไกบริหารที่สูงกว่าของอาเซียนมาปฏิบัติ
ASEAN-COCI มีการประชุมปีละครั้งเช่นกัน โดยประเทศสมาชิกหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ โดยมีหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศเจ้าภาพทำหน้าที่ประธาน ASEAN-COCI มีหน้าที่รับผิดชอบการกำหนดนโยบายและให้ข้อเสนอแนะการดำเนินงานโครงการด้าน วัฒนธรรมและสนเทศในระดับภูมิภาค พิจารณาโครงการและงบประมาณตามที่คณะอนุกรรมการเสนอ รวมทั้งการจัดลำดับความสำคัญของโครงการเพื่อเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการ ประจำอาเซียน (ASEAN Standing Committee) การติดตามประสานงานโครงการ การประสานงานและดำเนินงานตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากการประชุมระดับเจ้า หน้าที่อาวุโส (SOMCA) และการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านวัฒนธรรมและศิลปะ (AMCA) และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOMRI) และการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสนเทศ (SOMRI) ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานด้านวัฒนธรรมและสนเทศของประเทศสมาชิกในการ แสวงหางบประมาณสนับสนุนจากประเทศคู่เจรจาและองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ฯลฯ
ผลการดำเนินงาน
การดำเนินงานที่ผ่านมาจนเข้าสู่ทศวรรษที่สามของ ASEAN-COCI ได้ก่อเกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมจำนวนมาก อาทิ
ผลงานด้านวรรณกรรมและอาเซียนศึกษา หนังสือเด็ก ผลงานวิชาการ เอกสารสิ่งพิมพ์ ประมาณ ๑๐๐ เรื่อง ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่ของแหล่งค้นคว้าอ้างอิงทางวิชาการ รวมทั้งเป็นสื่อเผยแพร่สื่อการเรียนการสอนวัฒนธรรมของอาเซียนได้อย่างกว้าง ขวาง
ผลงานด้านศิลปการแสดง มีกิจกรรมด้านนาฏศิลป์ ละคร ดนตรี ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย ผลงานด้านศิลปการแสดงที่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้สร้างสรรค์ร่วมกัน คือ การแสดงรามเกียรติ์ของศิลปินอาเซียน 10 ประเทศ ได้แสดงเผยแพร่สู่สายตาประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก กล่าวคือ ประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ ทวีปยุโรป ๕ ประเทศ ทวีปเอเซีย ๓ ประเทศ คือ จีน เกาหลี อินเดีย
ผลงานด้านทัศนศิลป์ มีกิจกรรมครอบคลุมศิลปะสาขาต่าง ๆ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย ศิลปะเด็ก เป็นต้น นอกจากนั้นมีนิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัย ซึ่งจัดได้นำไปแสดงในประเทศต่าง ๆ ทวีปยุโรป และจัดแสดงที่ประเทศญี่ปุ่นเนื่องในโอกาสปีแห่งการแลกเปลี่ยนระหว่างอาเซียน กับญี่ปุ่น ในปี ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลอง ๒๕ ปี แห่งการจัดตั้งกองทุนวัฒนธรรมอาเซียน
ผลงานด้านสนเทศ (กรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ) มีการพัฒนาสื่อสารมวลชนทั้งในด้านบุคลากร เทคนิค การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมอาเซียนสู่สาธารณชนโดยผ่านสื่อต่าง ๆ ฯลฯ
ผลงานด้านมรดกวัฒนธรรม มีการลงนามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยมรดกวัฒนธรรม (ASEAN Declaration on Cultural Heritage) เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๔ เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการสงวนรักษาอนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรมของ ประเทศสมาชิก
ประเทศคู่เจรจา
นอกเหนือจากการดำเนินงานร่วมมือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในระหว่างประเทศสมาชิกอา เซียนด้วยกันแล้ว ASEAN-COCI มีกิจกรรมความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา (Dialoque Partners) ซึ่งปัจจุบันมี ๑๒ ประเทศ/องค์การ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี นิวซีแลนด์ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน และ UNDP ซึ่งเป็นการระดมทรัพยากรจากประเทศที่มีศักยภาพเพื่อช่วยในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของอาเซียน โดยประเทศสมาชิกได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานกับประเทศคู่เจรจา หมุนเวียนสับเปลี่ยนทุก ๓ ปี
โดย สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ วันที่ 15 พฤษภาคม 2558
คำค้นหา