“น้ำปลา-ปลาร้า” วัฒนธรรมร่วมของชาวอาเซียน
การ ที่ 10 ประเทศในอาเซียนจะรวมกันเป็นประชาคม แน่นอนว่า ย่อมต้องมีเอกลักษณ์ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องอาหารการกิน ประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกันก็จะมีวัฒนธรรมในการกินคล้ายคลึงกันไปด้วย ซึ่งชาวอาเซียนเราก็มีทั้ง “น้ำปลา” และ “ปลาร้า” ที่เป็นวัฒนธรรมการกินร่วมกัน มีให้กินคล้ายๆ กันในหลายประเทศ
เริ่มต้นที่ “น้ำปลา” ที่เป็นส่วนผสมของปลา เกลือ และน้ำเกลือเข้มข้น ผ่านการหมักบ่มนานนับปี ก็จะได้หัวน้ำปลาอย่างดี จากนั้นก็นำกากปลาที่เหลือมาผสมกับน้ำเกลือเข้มข้นแล้วหมัก ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะได้น้ำปลาเกรดสอง, สาม, สี่,... ไปจนกระทั่งกากปลาย่อยสลายไปหมด
น้ำปลานั้นเป็นสิ่งที่ช่วยชูรสชาติให้จัดจ้านกลมกล่อมขึ้น จากที่เป็นอาหารจืดๆ ใส่น้ำปลาลงไปก็เพิ่มความอร่อย อย่างที่ประเทศไทย เรียกว่า น้ำปลา เพื่อนบ้างเราก็กินน้ำปลาแต่มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละภาษา อย่างเช่น เวียดนาม เรียกว่า “Nuoc Mam” ฟิลิปปินส์ เรียกว่า “Patis” ลาว เรียกว่า “น้ำปา” พม่า เรียกว่า “Ngan Bya Yay”
ส่วน “ปลาร้า” นั้นก็ไม่ได้มีเพียงเฉพาะที่ภาคอีสานของไทย แต่เกิดขึ้นได้ทั่วทุกมุมโลก จากการที่ต้องเก็บถนอมปลาเอาไว้กินในยามขาดแคลน และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือ ปลา เกลือ และข้าว
ในประเทศไทย เรียกว่า “ปลาร้า” ส่วนบ้านพี่เมืองน้องของเรา ลาว เรียกว่า “ปลาแดก” ปลาร้าเขมร คือ “ปราฮ็อก” ฟิลิปปินส์ เรียกว่า “บากุง” เวียดนาม เรียกว่า “มาม” มาเลเซีย เรียกว่า “เปกาซัม” อินโดนีเซีย เรียกว่า “บากาแซ็ง” พม่า เรียกว่า “งาปิ๊”
จะเห็นว่า ชาวประชาคมอาเซียนนั้น ก็มีวัฒนธรรมในการกินที่คล้ายคลึงกัน เพราะมีวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ใกล้เคียงกัน นั้นก็คือ ปลา เกลือ และข้าว ซึ่งแต่ละชาติจะประดิดประดอยออกมาได้รสชาติ หรือหน้าตาแบบไหน ก็ต้องไปลองหาชมหาชิมกันเอาเอง
|
|
โดย : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 11 มีนาคม 2558