สมเด็จพระเทพฯพระราชทานรางวัลแก่ครูดีเด่นในอาเซียนและติมอร์-เลสเต
เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานพิธีมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รางวัลพระราชทานระดับนานาชาติเพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่นในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ๑๑ ประเทศ และเพื่อเทิดพระเกียรติเจ้าฟ้านักการศึกษา ผู้ทรงพระปรีชาและทรงมีคุณูปการต่อการศึกษาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จัดโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และหน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ทรงร่วมฟังปาฐกฐาพิเศษโดยดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ในหัวข้อ "Education as an Integration Tool for ASEAN Community”
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีมาจากการคัดเลือกของกระทรวงศึกษาธิการในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ทั้ง ๑๑ ประเทศ โดยมีคุณสมบัติเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ประเทศละ ๑ คน ซึ่งจะมีการคัดเลือกสุดยอดครู ๒ ปีครั้งโดยปีนี้เป็นปีแรกของการพระราชทานรางวัล ประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร โล่ เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ และเงินรางวัล รางวัลละ ๑๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ
ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "การศึกษาเพื่อเป็นเครื่องมือหลอมรวมประชาคมอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวว่า การศึกษาเท่านั้นที่จะทำให้ประชากรของประเทศสมาชิกอาเซียนเคารพซึ่งกันและกันและสร้างประชากรที่มีความรู้ความสามารถ รวมทั้งสร้างความฝันที่ต้องการให้ประชาคมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนและประเทศติมอร์-เลสเต มีประชากรที่มีความแตกต่างทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการศึกษา แต่ประชาคมอาเซียนมีภารกิจร่วมกันที่ต้องลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนา รวมทั้งนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและอำนาจต่อรองทางการค้าและการลงทุนกับนานาประเทศ ซึ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่จะไม่สามารถส่งต่อภารกิจเหล่านี้ได้หากไม่เข้าใจหลักการและเหตุผลเหล่านี้”
ดร.สุรินทร์ กล่าวด้วยว่า งานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นสาขาที่ประเทศอาเซียนต้องการอย่างยิ่งในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน หากไม่นับสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ประเทศสมาชิกภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย
ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ