สภาอุตสาหกรรมดัน 3 จว.ชายแดนใต้-สงขลาเป็นฮับพลังงานทดแทนอาเซียนเว็บไซต์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพ logo website จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สภาอุตสาหกรรมดัน 3 จว.ชายแดนใต้-สงขลาเป็นฮับพลังงานทดแทนอาเซียน

ผู้เขียน:  เจ้าหน้าที่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จาก สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อวันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 11:00 น.

 อ่าน 1,816
สภาอุตสาหกรรมดัน 3 จว.ชายแดนใต้-สงขลาเป็นฮับพลังงานทดแทนอาเซียน
 
      นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในกลุ่มคลัสเตอร์พลังงานที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้นำเสนอโครงการพลังงานทดแทนอาเซียน (ASEAN Renewable Energy Center) เพื่อใช้พื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอภาคใต้ ประกอบด้วย จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี เป็นพื้นที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานประกาศเป็นพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมเป็น พิเศษไปแล้ว โดยภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนเอง แต่ภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือในประเด็นการให้ความสะดวกขั้นตอนการอนุญาต

เมื่อประเมินความพร้อมเอกชนที่สนใจจะลงทุนในพื้นที่ แบ่งเป็น
1) โรงไฟฟ้าชีวมวล ไม่น้อยกว่า 100 เมกะวัตต์ จากชีวมวลเหลือทิ้งและพืชโตเร็ว
2) พลังงานลมไม่น้อยกว่า 100 เมกะวัตต์ จากศักยภาพลม 400 เมกะวัตต์ ตามข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)
3) โรงงานผลิต Biomass Pellet ไม่น้อยกว่า 10,000 ตัน/เดือน ที่มาจากพืชโตเร็วและเศษเหลือทิ้ง
4) โรงไฟฟ้าพลังงานขยะไม่น้อยกว่า 10 เมกะวัตต์ และ
5) การผลิตพลังงานจากก๊าซชีวภาพไม่น้อยกว่า 50 เมกะวัตต์
 
         ทั้งนี้ในการหารือมองว่าสิ่งที่ภาครัฐต้องส่งเสริมคือการลงทุนสร้างถนนเพิ่มเติม เท่าที่จำเป็น โดยระบบน้ำประปาและไฟฟ้ายังไม่มีความจำเป็นในช่วงแรก การจัดเตรียมสายส่งไฟฟ้าให้เพียงพอรองรับกำลังผลิตใหม่ในปี 2561 - 2562 และส่งเสริมมาตรการด้านภาษีเหมือนเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ
"ไทยเหมาะสมที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนในอาเซียน โดยเฉพาะไทยถูกล้อมรอบด้วยกลุ่ม CLMV ที่มีทรัพยากรด้านชีวมวลเป็นจำนวนมาก รวมถึงนโยบายภาครัฐในปัจจุบันต้องการผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการดังกล่าวนอกจากจะเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้พื้นที่ภาคใต้ระยะยาว แล้ว ยังสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจการเมืองและโครงสร้างพื้นฐานด้วย"
 
      สำหรับเป้าหมายของแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP (Alternative Energy Development Plan) ระบุว่า จะต้องมีกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนเพิ่มเป็น 19,635 เมกะวัตต์ ในปี 2579 จากปัจจุบันที่ 7,279 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นจากขยะ 501 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 48 เมกะวัตต์ ชีวมวล 5,570 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 2,199 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพที่ 600 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 226 เมกะวัตต์ พืชพลังงาน 680 เมกะวัตต์ น้ำ 3,282 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 3,016 เมกะวัตต์ ลม 3,002 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 220 เมกะวัตต์ และแสงอาทิตย์ 6,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 1,570 เมกะวัตต์

คำค้นหา
 
comments powered by Disqus
ข่าวในประเภทข่าวอาเซียนทั่วไป
ข่าวโดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข่าวล่าสุด
สนใจมากสุดในรอบเดือน
เข้าชมล่าสุด