อ่าน 1,638
คณะสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียนเยือนไทย หวังยกระดับการค้าสู่อันดับหนึ่ง
เมื่อ วันที่ 6 สิงหาคม 2558 คณะนักธุรกิจสหรัฐฯ – อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council : USABC) นำโดยนายอเล็กซานเดอร์ ซี เฟลด์แมน ประธาน USABC พร้อมด้วยผู้แทนจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ อาทิ Brown-Forman Caterpillar Chevron GlaxoSmithKline Google Guardian MasterCard และ Mead Johnson เป็นต้น ได้เข้าพบหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) เพื่อหารือแนวทางการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ พร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าการลงทุน และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับรัฐบาลไทยในการปฏิรูปประเทศในทุกมิติ ใน การหารือครั้งนี้ไทยได้แสดงความยินดีที่สหรัฐฯ ต่ออายุโครงการ GSP ซึ่งจะเป็นประโยชน์ร่วมกันในระยะยาวระหว่างภาคเอกชนไทยและสหรัฐฯ โดยเล็งเห็นว่า GSP จะเป็นกลไกขยายการค้าระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยยกระดับให้สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในอนาคต
ในการนี้ นางอภิรดี ได้กล่าวเชิญชวนให้สหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในสาขาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเพื่อรองรับการ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกไปภูมิภาคอเมริกา โดยเฉพาะรถกระบะและรถยนต์ประหยัดพลังงาน รวมทั้งใช้ไทยเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานสินค้าส่วนประกอบยาน ยนต์ ทั้งการผลิตและซ่อมบำรุง และสนับสนุนให้ไทยในการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ของอาเซียน ตลอดจนได้เชิญสหรัฐฯ ร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก และธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลาง (Gateway) การเชื่อมต่อการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะตอบสนองการค้ายุคใหม่ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ซึ่งนักธุรกิจจาก 29 เครือข่ายบริษัทสหรัฐฯ สนใจและพร้อมเดินหน้าขยายการลงทุน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอาเซียนต่อไป
สหรัฐฯ ได้เห็นพ้องถึงศักยภาพความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน (Hub) และการบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบห่วงโซ่อุปทานโลก ผ่านการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการจัดทำความตกลง FTA กับคู่ค้าสำคัญหลายประเทศ อาทิ ASEAN+6 (RCEP) ปากีสถาน และตุรกี นอกจากนี้ สหรัฐฯ เห็นว่าไทยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถรองรับความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) และการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZs) ในพื้นที่ชายแดน 6 จังหวัดนำร่องภายในปี 2558
ด้วยเหตุนี้ คณะ USABC จึงยังคงมุ่งหน้าสานต่อกิจกรรมการค้าการลงทุนกับไทยอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของไทยจากการที่ไทย มุ่งมั่นแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นสากล และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติทางธุรกิจในโลกการค้ายุคใหม่
ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2553-2557) มีมูลค่าการค้าเฉลี่ย 35,560.43 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2557 ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกัน 38,471.21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 2.37 ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 23,891.61 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 14,579.60 ล้านเหรียญสหรัฐ
สินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น สินค้านำเข้าหลักของไทย ได้แก่ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ และไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น
ใน ปี 2557 สหรัฐฯ เป็นนักลงทุนต่างชาติลำดับ 4 ที่เข้ามาลงทุนในไทย รองจากญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และไต้หวัน มีโครงการลงทุน FDI ที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI จำนวน 38 โครงการ อาทิ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุปโภคบริโภค บริการทางการเงิน บริการขนส่ง เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 50,158 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 9,400 ล้านบาท ในปี 2556
คำค้นหา